You are currently viewing ขั้นตอนการจ่ายเงินงวดให้ผู้รับเหมา ฉบับเข้าใจง่าย

จะสร้างบ้าน ได้ผู้รับเหมาเจ้าที่ถูกใจแล้วลำดับต่อไปที่เราควรศึกษาข้อมูลคือขั้นตอนการจ่ายเงินงวดให้ผู้รับเหมาครับ เป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่ไม่รู้ไม่ได้ เพราะจะช่วยเซฟตัวเราไม่ให้โดนหลอก และไม่เสียเปรียบครับ มาดูกัน

ขั้นตอนสำหรับการคิดราคา และการจ่ายเงินงวดให้กับผู้รับเหมาอย่างแรกเลยจะต้องเช็ก BOQ หรือบัญชีรายการวัสดุก่อสร้างและค่าแรงที่ผู้รับเหมาเสนอมาก่อน หากโอเคแล้วให้ผู้รับเหมาทำสัญญาว่าจ้างได้เลย ซึ่งเงินงวดแต่ละงวดที่อยู่ในสัญญา ก็ควรจะอ้างอิงจากใบ BOQ ครับ และเราจะจ่ายเงินในแต่ละงวดได้ก็ต่อเมื่อเนื้องานของงวดนั้น ๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว จะเป็นวิธีที่เซฟที่สุดครับ

แล้วเงินงวดแต่ละงวดควรแบ่งอย่างไร ถ้าผู้รับเหมามาขอเบิกกลางงวดจะต้องทำยังไง หรือจ้างผู้รับเหมารายย่อยมาไม่มีการทำใบ BOQ ให้ เราจะต้องคำนวณราคาอย่างไรบ้างติดตามอ่านต่อได้เลยครับ

ขั้นตอนการจ่ายเงินงวดให้ผู้รับเหมา

เรื่องการจ่ายเงินงวดไม่รู้ไม่ได้ครับ ปกติแล้วเมื่อเราขอใบเสนอราคา ผู้รับเหมาจะมีใบ BOQ (Bill of Quantities) หรือบัญชีรายการวัสดุและค่าแรงก่อสร้างมาให้เรา เพื่อให้รู้มูลค่าทั้งหมดของงานและยังสามารถนำไปใช้เปรียบเทียบราคาระหว่างผู้รับเหมาแต่ละเจ้าได้

ในใบ BOQ จะมีการแจกแจงรายละเอียดเป็นหมวดหมู่ เช่น หมวดงานดินและการเตรียมงาน, หมวดงานโครงสร้าง, หมวดงานสถาปัตยกรรม, หมวดไฟฟ้า และหมวดสุขาภิบาล จุดสำคัญคือเราจะต้องลองนำ BOQ ของแต่ละเจ้าที่ได้มาเปรียบเทียบหาราคากลางเพื่อดูว่าผู้รับเหมาเจ้าไหนที่ให้ราคาที่เหมาะสมที่สุดครับ หรืออาจจะลองสำรวจราคาจากร้านวัสดุก่อสร้างร้านใหญ่ ๆ ดูก่อนก็ได้เพื่อพอจะรู้ราคาของวัสดุบ้าง

เมื่อตัดสินใจเลือกเจ้าที่ต้องการได้แล้ว มาถึงช่วงเซ็นสัญญาว่าจ้างผู้รับเหมา ก็มาดูกันต่อว่าเงินที่ควรจ่ายอยู่ที่เท่าไหร่ต่องวดบ้าง แต่จริง ๆ แล้วก็ไม่มีกฎตายตัว เพราะจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยครับ ทั้งสภาพคล่องทางการเงินของเราและผู้รับเหมา, กฎระเบียบของธนาคารที่เรายื่นกู้ และความสัมพันธ์ระหว่างค่างวดและเนื้องานว่าสอดคล้องกันไหม โดยทางผู้รับเหมาจะเป็นคนเสนอค่างวดมาให้ในสัญญาว่างจ้างก่อสร้างครับ ซึ่งค่างวดนี้ก็จะอิงจากราคาในใบ BOQ  ยกตัวอย่างเช่น

เราจะต้องจ่ายค่าจ้างให้กับผู้รับเหมาทั้งหมด 4,500,000 บาท โดยแบ่งเป็นทั้งหมด 6 งวด ดังนี้

งวดที่1 : ชำระเงินจำนวน 450,000 บาท ในวันที่ทำสัญญาสำหรับเตรียมการและสั่งวัสดุ

งวดที่ 2 : ชำระเงินจำนวน 400,000 บาท เมื่อผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้างงานฐานรากและเสาเข็มเสร็จ

งวดที่ 3 : ชำระเงินจำนวน 688,000 บาท เมื่อผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างคอนกรีต งานโครงสร้างหลังคาเสร็จ

งวดที่ 4 : ชำระเงินจำนวน 1,352,000 บาท เมื่อผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้างงานมุงหลังคา, งานพื้น และงานก่อผนังทั้ง 2 ชั้น ผ้าเพดานและติดตั้งประตูหน้าต่างเสร็จ

งวดที่ 5 : ชำระเงินจำนวน 1,160,000 บาท เมื่อผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้างงานสุขภัณฑ์ห้องน้ำ, งานบันได, งานสี, งานตกแต่งรูปด้าน, งานสุขาภิบาล และงานไฟฟ้าเสร็จ

งวดที่ 6 : ชำระเงินจำนวน 450,000 บาท เมื่อผู้ว่าจ้างได้ดำเนินการตรวจสอบและตกลงรับมอบงานก่อสร้างทั้งหมดจากผู้ว่าจ้าง

จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า งานที่ผู้รับเหมาเขียนในสัญญาว่าจะก่อสร้างให้เสร็จนั้นจะอยู่ที่ 80% ของสโคปงาน เพื่อเหลือส่วนต่าง 20% มาแบ่งจ่ายเป็น 10% ในงวดแรก (ค่ามัดจำ) ที่เป็นงวดทำสัญญาและค่าซื้ออุปกรณ์ และอีก 10% เป็นงวดสุดท้ายตอนเก็บงาน (ค่าส่งมอบงาน) ซึ่งเป็นวิธีการคิดที่ส่วนมากจะทำกันครับ

แล้วเราจะจ่ายแต่ละงวดเมื่อไหร่? หลังจากจ่ายงวดแรกไปแล้ว สิ่งที่ควรจะเป็นก็คือการ “จ่ายตามเนื้องานที่เสร็จ” เพื่อให้เราไม่โดนเอาเปรียบ ถ้ามีการทิ้งงานขึ้นมาก็ยังสามารถนำเงินก้อนที่เหลือไปจ้างผู้รับเหมาอื่นได้ส่วนฝั่งผู้รับเหมาเองก็มีเงินระหว่างทางในการจ่ายค่าแรงช่าง และค่าซื้อวัสดุต่าง นั่นเองครับ

ข้อควรรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ BOQ และ เงินงวดผู้รับเหมา

งานสเกลใหญ่ ควรจ้างวิศวกรถอดปริมาณ BOQ

ถ้างานใหญ่ แนะนำให้จ้างวิศวกรเพื่อถอดปริมาณ BOQ เองด้วย แล้วนำ BOQ จากผู้รับเหมามาลองเปรียบเทียบกับ BOQ ที่เราจ้างวิศวกร ส่วนไหนสูงจนเกินไปก็ขอปรับลดลงมาให้เหมาะสม หรือถ้าส่วนไหนถูกจนเกินไปก็ควรตรวจสอบเช็กวัสดุที่ผู้รับเหมาเลือก ว่าถูกต้องตามแบบที่เราต้องการจริง ๆ หรือป่าว วิธีการนี้จะช่วยลดการโดนเอาเปรียบได้ครับ

ผู้รับเหมาของเงินกลางงวดทำยังไง ?

เป็นเรื่องที่เจอกันบ่อย ๆ แต่อย่างไงก็ยังยืนยันว่าเราควร “จ่ายตามเนื้องานที่เสร็จ” ครับ เช่น ตามสัญญางวดนี้จะต้องจ่ายเมื่อโครงสร้างคอนกรีต และงานโครงสร้างหลังคาเสร็จ แต่หาผู้รับเหมามาของเงินกลางงวด เราก็จะดูจากเนื้องานว่าไปถึงไหนแล้ว หากเสร็จแค่งานโครงสร้างคอนกรีต ก็จ่ายเฉพาะแค่เนื้องานที่เสร็จครับ ไม่ควรจ่ายในส่วนของงานโครงสร้างหลังคาที่ยังไม่เสร็จไปก่อน จะเป็นทางออกที่ดีครับ

เพราะหากเราปฏิเสธการให้เงินกลางงวดไป (ซึ่งก็ถูกต้องแล้วตามสัญญาที่ได้ทำกันไว้) แต่หากเราประเมินแล้วหากไม่จ่าย อาจจะทำให้การสร้างบ้านเสร็จช้ากว่าเดิม หรือเกิดปัญหาอื่น ๆ การจ่ายแบบนี้ถือว่าเซฟสุด ในทุก ๆ ด้านครับ

ผู้รับเหมารายเล็กไม่มี BOQ ทำยังไง?

หากเป็นงานเล็ก ๆ ที่ใช้บริการผู้รับเหมารายย่อยส่วนมากแล้วจะไม่มี BOQ มาให้เราครับ และผู้รับเหมาอาจจะเสนอราคามาให้เลย สิ่งที่เราควรทำคือต้องลองคำนวณค่าใช้จ่ายด้วยตัวเองคร่าว ๆ เพื่อจะได้มีเกณฑ์ราคาที่ตั้งไว้ และนำมาเปรียบเทียบกับราคาที่ผู้รับเหมาเสนอมา วิธีการคำนวณค่าใช้จ่ายคร่าว ๆ สามารถทำได้ตามนี้

จัดหมวดหมู่งาน

ก่อนจะคิดราคาต้องแยกหมวดหมู่งานให้ชัดเจนก่อน เช่น งานพื้นที่, งานพื้นผิว, งานโครงสร้าง, งานหลังคา, งานฝ้าเพดาน, งานผนัง, งานประตูหน้าต่าง, งานทาสี, งานไฟฟ้า, งานประปา, งานสุขภัณฑ์, งานตกแต่งภายใน และงานตกแต่งภายนอก เพื่อจะได้จัดหมวดหมู่ข้อมูลของวัสดุแต่งานได้

วัดพื้นที่

ใช้หน่วยเมตรและตารางเมตรเป็นหลักในการวัดพื้นที่ เพราะเป็นหน่วยมาตรฐานที่ใช้ซื้อขายวัสดุก่อสร้าง เช่น พื้นที่บ้าน 145 ตารางเมตร ก็จะต้องใช้กระเบื้องปู้พื้น 145 เมตร หรือบ้าน 2 ชั้น ต้องเดินสายไฟครบทุกห้องใช้สายไฟยาวประมาณ 250 เมตร หรือประมาณ 5 – 6 ม้วน เป็นต้น

สำรวจราคา

แนะนำให้ไปที่ร้านจำหน่ายวัสดุก่อนสร้างขนาดใหญ่ เพราะส่วนมากจะมีบริการทำใบเสนอราคาตามรายการที่เราต้องการมาให้ ไม่ต้องเสียเวลาไปนั่งเช็กเองทีละอย่าง หรือวัสดุบางอย่างก็สามารถหาราคาได้ตามเว็บไซต์แล้วครับไม่ต้องเดินทางไปให้เสียเวลา

สรุปราคาที่ต้องจ่าย

คิดค่าวัสดุได้คร่าว ๆ ด้วยการใช้สูตร ปริมาณวัสดุ x ราคาต่อหน่วย = ราคาวัสดุที่ต้องใช้ แต่ในส่วนค่าแรงนั้นไม่มีอะไรตายตัว อยู่ที่ทางผู้รับเหมาจะคิด แต่เราอาจจะตั้งราคาไว้ในใจคร่าว ๆ ได้เช่นกันตามความยากง่ายของงาน

ทำสัญญาว่าจ้าง

การจ้างผู้รับเหมารายย่อย ไม่ควรจ่ายเงินไปก้อนใหญ่ ๆ ทีเดียวเพราะเสี่ยงมากที่จะโดนโกง หรือโดนทิ้งงาน ควรมีสัญญาว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรและในสัญญาควรมีการข้อตกลงการจ่ายเป็นงวด ๆ เช่นเดียวกันกับผู้รับเหมาที่เป็นบริษัทครับ ซึ่งก็ควรยึดหลักเดียวกันคือต้อง “จ่ายตามเนื้องานที่เสร็จ” เท่านั้น

เรื่องค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ขั้นตอนการจ่ายเงินงวดผู้รับเหมา เป็นอีกเรื่องที่ต้องรอบคอบมาก ๆ ถ้าเราศึกษา เตรียมพร้อมข้อมูลมาเป็นอย่างดีก็จะช่วยลดโอกาสที่จะถูกเอาเปรียบ หรือมีปัญหาได้ภายหลัง จะสร้างบ้านทั้งก็ต้องลงแรง ลงเงิน ลงเวลา กันหน่อยครับ

Jirapa Sawatanan

Creative & Content creator ประสบการณ์เขียนบทความเกี่ยวกับการเงินและหมวดหมู่ที่เกี่ยวข้อง 2 ปี Linkedin
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments