You are currently viewing กู้เงินมาสร้างบ้าน ยากแค่ไหน เตรียมพร้อมและวางแผนอย่างไร

กู้เงินมาสร้างบ้าน ไม่เหมือนกับกู้ซื้อบ้าน เพราะมีขั้นตอน, เอกสาร และเงินสำรองที่จะต้องเตรียมไว้ครับเพราะฉะนั้นแล้ว การเตรียมพร้อมและวางแผนให้รอบด้านเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมากหากต้องการกู้เงินเพื่อสร้างบ้าน ขั้นตอนการเตรียมตัวต่าง ๆ จะเป็นอย่างไร เราสรุปมาให้แบบเข้าใจง่าย ๆ แล้วครับ

กู้เงินสร้างบ้าน ไม่ยากแต่ต้องเตรียมพร้อมวางแผนให้ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแปลนบ้านและว่าจ้างผู้รับเหมา, เรื่องเอกสาร, เรื่องเงินสำรองที่จะต้องเตรียมไว้ 30% – 50% ของมูลค่างานก่อสร้าง และสุดท้ายจะต้องศึกษาเรื่องงานก่อสร้างเบื้องต้นเพื่อประเมินงบและระยะเวลาได้ด้วยตนเอง

รายละเอียดของแต่ละขั้นตอนจะเป็นอย่างไร และหากต้องการกู้ซื้อที่ดินพร้อมกับกู้สร้างบ้านด้วยทำได้หรือไม่ติดตามอ่านต่อได้เลยครับ

ขั้นตอนวางแผนกู้เงินสร้างบ้าน

การกู้เงินเพื่อสร้างบ้านจะมีส่วนที่แตกต่างกับการกู้เงินเพื่อซื้อบ้านอยู่พอสมควรครับ ถามว่ายากไหมก็ไม่ยากเกินความสามารถ แต่ก็ต้องใช้เวลาในการศึกษาเตรียมพร้อมและวางแผนการอยู่พอสมควร 

1.วางแผนหาแบบแปลนบ้านและผู้รับเหมา

เรียกได้ว่ากุญแจสำคัญของการกู้เงินสร้างบ้านเลยก็ว่าได้ครับ แปลนบ้านจะเป็นสิ่งที่ธนาคารต้องการดูมากที่สุด เพราะทางธนาคารเองก็อยากรู้ว่าเงินที่เขาอนุมัติไปจะนำไปสร้างเป็นบ้านแบบไหน หน้าตาเป็นอย่างไรและประเมินราคาในการสร้างได้อยู่ที่เท่าไหร่

ซึ่งแปลนบ้านทุกวันนี้สามารถหาได้ตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ได้เลยหากชอบแปลนไหนก็สามารถติดต่อเจ้าของแปลนเพื่อให้เจ้าของเซ็นต์รับรองเท่านี้ก็นำมาใช้ได้แล้ว หรือจะจ้างสถาปนิกให้ออกแบบแปลนบ้านให้ก็ได้เช่นกัน ข้อดีคือเราสามารถกำหนดแปลนบ้านได้ตามต้องการ แต่ก็จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการหาแปลนบ้านสำเร็จรูปครับ

เมื่อได้แปลนบ้านเรียบร้อยแล้วขั้นตอนต่อไปที่สำคัญมาก ๆ นั่นคือจะต้องนำแปลนบ้านนี้ไปขอใบอนุญาตก่อสร้างที่กรมที่ดินหรือสำนักงานเขตก่อน เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องทำถ้าไม่ขออนุญาตจะถือว่าผิดกฎหมายได้ครับ

ขั้นตอนต่อไปที่ควรรู้ก็คือ เราจะต้องทำสัญญาว่าจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างก่อน เพื่อจะนำสัญญาว่าจ้างนี้ไปยื่นกับธนาคารเป็นหลักฐานยืนยันว่าเรามีการจ้างผู้รับเหมามาสร้างบ้านจริง ๆ ธนาคารถึงจะพิจารณาเรื่องการอนุมัติเงินให้เราได้ครับ นั่นแปลว่าแม้ธนาคายังไม่ได้อนุมัติเงินกู้ให้เรา แต่เราก็จำเป็นต้องหาผู้รับเหมามาก่อนนะครับ

2. วางแผนเตรียมเอกสารและเปรียบเทียบสินเชื่อสร้างบ้านของแต่ละธนาคาร

แต่ละธนาคารก็จะมีโปรโมชั่นและเงื่อนไขอะไรบ้าง ลองดูหลาย ๆ เจ้าเพื่อนำมาเปรียบเทียบกันทั้งในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ลองเลือกไว้มากว่า 1 ที่ที่สนใจเพื่อจะได้เตรียมเอกสารและยื่นไปพร้อม ๆ กันเลย ส่วนเรื่องเอกสารที่จะต้องเตรียมมีดังนี้

เอกสารยืนยันตัวตน

สำเนาบัตรประชาชน, สำเนาทะเบียนบ้าน,ใบทะเบียนสมรส/ทะเบียนหย่า (ถ้ามี) และใบเปลี่ยนชื่อ (ถ้ามี)

เอกสารแสดงรายได้

สลิปเงินเดือนย้อนหลัง, หนังสือรับรองเงินเดือน และรายการเดินบัญชีย้อนหลัง

เอกสารหลักประกัน

จะเป็นชุดเอกสารที่การกู้เพื่อซื้อบ้านไม่จำเป็นต้องมี แต่การกู้สร้างบ้านจำเป็นจะต้องยื่นครับนั่นคือ แปลนบ้าน, ใบอนุญาตก่อสร้างจากกรมที่ดิน และสัญญาผู้รับเหมา

3. วางแผนเรื่องเงินสำรอง

อย่างที่บอกไปครับว่าการกู้เงินสร้างบ้านและการกู้เงินซื้อบ้านมีความแตกต่างกัน เพราะการกู้เงินสร้างบ้านจะไม่ได้เงินก้อนมาทีเดียวเหมือนการกู้เงินซื้อบ้าน แต่ธนาคารจะทยอยจ่ายให้เราเป็นงวด ๆ ซึ่งแต่ละงวดก็จะเป็นไปตามที่ทางผู้รับเหมาได้เขียนในสัญญาว่าจ้าง ว่ารายละเอียดของแต่ละงวดต้องจ่ายเท่าไหร่ เพื่อนำมาทำอะไรบ้าง

ซึ่งตรงนี้ก็ต้องมาดูการกู้ของเราด้วยว่าเรากู้แบบไหน กู้เพื่อมาสร้างบนที่ดินของตัวเอง หรือ ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเองต้องการกู้ซื้อที่ดินและสร้างบ้านด้วย ทั้ง 2 ประเภทนี้จะมีความแตกต่างกันเล็กน้อย โดยการกู้ซื้อที่ดิน พร้อมกู้สร้างบ้าน จะแบ่งเงินเป็นสองส่วน คือส่วนที่นำไปซื้อที่ดิน และนำไปปลูกสร้างบ้าน ซึ่งส่วนที่นำไปซื้อที่ดินนั้นธนาคารจะไม่ได้อนุมัติวงเงินในเรา 100% นะครับ 

โดยส่วนมากแล้วจะอนุมัติมาให้อยู่ที่ 50% – 80% ของราคาประเมิน นั่นหมายความว่าคนที่จะกู้ซื้อที่ดินด้วยจำเป็นจะต้องมีเงินส่วนนี้สำรองไว้ครับ และหากราคาซื้อ – ขายสูงกว่าราคาประเมินมากก็แปลว่าเราต้องเตรียมเงินสำรองไว้มากขึ้นไปอีก

ส่วนวงเงินของการปลูกสร้างบ้านทั้งคนที่มีที่ดินและไม่มีที่ดินก็จะเหมือนกันครับคือการได้รับเงินเป็นงวด ๆ โดยธนาคารจะส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจงานก่อนว่าส่วนของงวดแรกเสร็จเรียบร้อยตามสัญญาหรือไม่ หากเรียบร้อยจึงจะจ่ายงวดที่ 2 มาให้เรา 

ซึ่งในส่วนนี้ก็ควรจะต้องเตรียมเงินสำรองไว้เช่นกันประมาณ 30% – 50% ของมูลค่างานก่อสร้าง เพราะระหว่างการก่อสร้างหรือเมื่อผู้รับเหมาจะเตรียมงานก่อสร้างต่าง ๆ เราก็จำเป็นจะต้องออกเงินไปก่อนนั่นเองครับ

หรือในบางกรณีธนาคารจะมีการประเมินเบื้องต้นจากการดูผลงานการก่อสร้างที่มีการดำเนินการสร้างไปแล้ว 20% เพื่อความมั่นใจก่อนจะอนุมัติวงเงินมาให้เรา นั่นแปลว่าเราอาจจะต้องมีทุนเองในการสร้างบ้านขั้นเริ่มต้นไปก่อน ถึงจะได้รับอนุมัติวงเงินสินเชื่อมาภายหลัง แบบนี้ก็มีครับ

4. ศึกษาเรื่องการก่อสร้างเบื้องต้น

การรู้เรื่องงานก่อสร้างบ้างจะช่วยให้เราพอจะคำนวณ จัดสรรงบประมาณที่จะต้องเตรียมสำรอง  งบประมาณที่จะยื่นกู้ได้ดียิ่งขึ้น ไปจนถึงสามารถประเมินระยะเวลาในการสร้างไม่ให้เลยไปกว่าที่กำหนด หรือไม่ถูกเอาเปรียบจากผู้รับเหมาได้

การศึกษาข้อมูล วางแผน และเตรียมพร้อมเรื่องเงินสำรองเป็นหัวใจหลักในการกู้เงินสร้างบ้านครับ แม้ดูแล้วอาจจะรู้สึกยุ่งยากไปหน่อย แต่ถ้าแลกมากับบ้านในแบบที่เราต้องการจริง ๆ ก็ถือว่าคุ้มนะครับ

Jirapa Sawatanan

Creative & Content creator ประสบการณ์เขียนบทความเกี่ยวกับการเงินและหมวดหมู่ที่เกี่ยวข้อง 2 ปี Linkedin
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments