ว่ากันว่าต่อให้เป็นเพื่อนรักกัน แต่ถ้าลองได้ยืมเงินกัน ก็มีแตกหักกันมานักต่อนัก ยิ่งในปัจจุบันสื่อออนไลน์เข้ามามีบทบาทในชีวิตของเรามากขึ้น โดยเฉพาะการแชท ทำให้คนกล้าที่จะพูดคุยกันมากขึ้นเพราะอย่างน้อยก็ไม่ต้องเผชิญหน้ากันตัวต่อตัว ไม่เว้นแม้แต่การยืมเงินผ่านทางแชท
ตอนขอยืมก็พร้อมที่จะถวายหัวยอมทุกสิ่งอย่าง แต่ตอนคืนนี่สิ กลายเป็นคนให้ยืมต้องตามอ้อนวอนขอเงินคืน แบบนี้แล้วทำให้หลายคนทนไม่ไหว อยากจะแจ้งความให้รู้แล้วรู้รอด แต่ติดที่ไม่รู้ว่า หลักฐานแชทยืมเงิน แจ้งความได้ไหม เราไปหาคำตอบกันค่ะ
เรียนรู้กฎหมายการกู้ยืมเงิน
ก่อนที่เราจะไปหาคำตอบว่าหลักฐานแชทยืมเงิน แจ้งความได้ไหม เราต้องมาเรียนรู้ให้เข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายกู้ยืมเงินกันก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคแรก บัญญัติเกี่ยวกับการยืมเงินที่มูลค่าเกิน 2,000 บาท ต้องทำหนังสือเป็นหลักฐานและลงลายมือชื่อ จึงจะสามารถฟ้องร้องได้บังคับคดีได้ จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว
จะเห็นว่า ถ้าเป็นการกู้ยืมเงินกันจำนวนไม่เกิน 2,000 บาท ถึงแม้ว่าผู้ให้กู้ยืมเงินกับผู้กู้ยืมเงินจะไม่ได้ทำหรือไม่มีหลักฐานใดเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้กู้ยืมเงินให้ผู้ให้กู้ยืมเงินยึดถือไว้เป็นหลักฐาน หากผู้กู้ยืมเงินไม่ยอมชำระหนี้ ผู้ให้กู้ยืมเงินก็มีสิทธิที่จะฟ้องร้องบังคับให้ผู้กู้ยืมเงินนั้นชำระหนี้ได้
เพราะกฎหมายดังกล่าว ไม่ได้บังคับว่าการกู้ยืมเงินกันไม่เกิน 2,000 บาท จะต้องมีหลักฐานการกู้ยืมเงินระหว่างผู้ให้กู้ยืมเงินกับผู้กู้ยืมเงิน ผู้ให้กู้ยืมเงินสามารถใช้สิทธิฟ้องร้องบังคับ ชำระหนี้ได้ แม้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดงก็ตาม
แต่หากจำนวนเงินเกิน 2,000 บาท กรณีที่ไม่ได้ทำสัญญากู้ยืมเงิน แต่หลักฐานอย่างแชทมีข้อความที่ทำให้เข้าใจได้ว่าผู้กู้ยืมเงินได้กู้ยืมเงินไปจากผู้ให้กู้ยืมเงินจริง ก็เพียงพอที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานในการฟ้องร้องได้
นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายในส่วนของ พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ระบุไว้ว่า “ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ คือ อักษร อักขระ ตัวเลข เสียงหรือสัญลักษณ์อื่น ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น”
ในส่วนของอายุความฟ้องร้องคดีกู้เงินนั้นมี 2 ช่วงเวลา ได้แก่
- 5 ปี : สำหรับสัญญากู้มีกำหนดชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเป็นงวด ๆ
- 10 ปี : สำหรับต้องฟ้องภายใน 10 ปี นับแต่วันถึงกำหนดชำระเงินกู้ยืมคืน
หลักฐานแชทแบบไหนใช้ฟ้องร้องได้ตามกฎหมาย
อย่างที่เราสงสัยกันว่าหลักฐานแชทยืมเงิน แจ้งความได้ไหม อ่านมาถึงตรงนี้ คงจะได้คำตบแล้วว่า สามารถแจ้งความได้ แต่จะต้องมีลักษณะหลักฐานที่มีองค์ประกอบดังต่อไปนี้
- ข้อความแชท (Chat) จะต้องมีการระบุอย่างชัดเจนถึงรายละเอียดการขอยืมเงิน โดยสามารถมองเห็นได้ว่าใครยืมเงินใคร
- บัญชีผู้ใช้ของผู้ยืมเงิน (Account) ในแชทจะต้องมีการระบุชื่อบัญชีผู้ใช้ของผู้ยืมเงิน ว่าใครเป็นคนยืม โดยตัวข้อมูลนั้นจะต้องเป็นข้อมูลในระบบที่ปลอดภัย มั่นคง และเชื่อถือได้
- หลักฐานการโอนเงิน (Slip) สลิปที่ใช้โอนเงิน ที่มองเห็นวัน เวลา และจำนวนเงินที่โอนเงินอย่างชัดเจน
คำแนะนำเพิ่มเติม
หากใครที่คิดจะฟ้องร้องหลักฐานแชทยืมเงิน แนะนำว่าควรเก็บหลักฐานโดยทันที เมื่อมีการยืมเงินและรักษาข้อมูลให้อยู่ในสภาพเดิมให้ได้มากที่สุด โดยไม่มีการแก้ไขวัน เวลา ที่รับส่งข้อความกัน
อันตรายที่มาพร้อมการแชทยืมเงิน
แม้ว่าหลักฐานแชทยืมเงินจะสามารถแจ้งความได้ แต่เราก็ยังควรต้องปกป้องตัวเองจากอันตรายที่มาพร้อมการแชทยืมเงิน เพราะอาจจะมีมิจฉาชีพมาแฮ็กบัญชีผู้ใช้เพื่อปลอมเป็นเราในการหลอกลวงเพื่อขอยืมเงินเพื่อนหรือคนรู้จักของเรา ซึ่งหากอีกฝ่ายรู้ไม่เท่าทัน ก็อาจจะให้ยืมเงิน โดยกรณีเช่นนี้จะถือว่าเป็นการยืมเงินหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับผู้ใช้บัญชีจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าแชทยืมเงินนั้นไม่ถูกส่งมาจากเจ้าของบัญชีผู้ใช้ตัวจริง
หลายครั้งเรามักจะเห็นคดีเกี่ยวกับความปลอดภัยในการเข้าใช้งานระบบแชทในแอปพลิเคชันต่าง ๆ ทั้งการสวมรอยเพื่อหลอกเอาเงิน การแฮ็กบัญชีเอาไปทำเรื่องไม่ดี
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เราสามารถป้องกันภัยเหล่านี้ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดย
- เปลี่ยนรหัส (Password) บ่อย ๆ
- ไม่ควรใช้ระบบการจดจำรหัสผ่าน อัตโนมัติ แต่ควรเปลี่ยนเป็นการกรอกรหัสผ่านทุกครั้งที่เข้าใช้งาน
- ควรเพิ่มระบบความปลอดภัย ด้วยการยืนยันตัวตนแบบสองชั้น (Google Authenticator)
- เก็บข้อมูลผู้ใช้และรหัสผ่านให้เป็นเรื่องเฉพาะตัว
กล่าวโดยสรุปแล้ว คำถามที่ว่าหลักฐานแชทยืมเงิน แจ้งความได้ไหม คำตอบคือ ได้ แต่ต้องมีการระบุข้อความอย่างชัดเจนว่าใครยืมเงินใคร และต้องปรากฏชื่อผู้ใช้บัญชีทั้งสองฝ่าย พร้อมหลักฐานการโอนเงินที่ระบุวันเวลา และจำนวนเงิน เพียงเท่านี้ก็สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้แล้วค่ะ แต่ถ้าใครไม่อยากจะฟ้องร้องกัน ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการยืมเงินกันจะดีกว่านะคะ