You are currently viewing วิธีลบข้อมูลในแอปยืมเงินนอกระบบ ไม่ให้โดนตามทวงหนี้

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกวันนี้มิจฉาชีพ จากแอปยืมเงินนอกระบบอยู่ใกล้ตัวเรามาก ๆ ไม่ว่าจะเข้าหาเราทาง SMS หรือแชท ชวนโหลดแอปเงินกู้นอกระบบที่หลอกลวงและฉ้อโกงเงิน แต่หากตอนนี้เราเผลอหลงกล กรอกข้อมูลของเราไปแล้ว หรืออนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลของเราไปแล้ว จะมีวิธีการลบข้อมูลเหล่านั้นไหม หรือสามารถทำอย่างไรได้บ้าง

หากให้ข้อมูลไปแล้ว เป็นไปได้ยากครับที่จะไปตามลบข้อมูลของเราที่ไปอยู่ในมือของแก๊งค์แอปยืมเงินนอกระบบเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่สามารถทำได้คือการตั้งรับเพื่อช่วยบรรเทาเรื่องร้ายให้ลดลงได้ ด้วยวิธีการ เปลี่ยนรหัสผ่านใหม่ทั้งหมด, ระงับบัตรเดบิต/เครดิตชั่วคราว, หยุดติดต่อกับแอปนั้น ๆ เพื่อลดการถูกข่มขู่และคุกคาม และสุดท้ายรวบรวมหลักฐานทั้งหมดเพื่อลงบันทึกประจำวัน หรือถ้าถูกฉ้อโกง ข่มขู่ คุกคามการใช้ชีวิตแล้วก็สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้เลย

ข้อมูลของเราที่แอปยืมเงินนอกระบบได้ไปมีข้อมูลอะไรบ้าง และวิธีการการตั้งรับต่าง ๆ จะต้องทำอย่างไร สามารถโทรไปร้องเรียนและขอความช่วยเหลือจากใครได้บ้าง ติดตามอ่านต่อได้เลยครับ

มีวิธีลบข้อมูลในแอปยืมเงินนอกระบบไหม

ต้องบอกกันตามตรงว่าเมื่อข้อมูลของเราได้ไปอยู่ในมือมิจฉาชีพเรียบร้อยแล้ว แม้จะลบแอปทิ้ง ก็เป็นเรื่องยากที่จะลบข้อมูลได้ครับ แต่เรามีวิธีการตั้งรับที่สามารถช่วยบรรเทาเรื่องร้ายให้ลดลงได้ ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่าตอนนี้มิจฉาชีพมีข้อมูลอะไรของเราบ้าง ซึ่งการล้วงข้อมูลของแอปยืมเงินนอกระบบก็มีด้วยกันหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น

  • ให้เรากรอกข้อมูลส่วนตัวเพื่อลงทะเบียน
  • นอกจากข้อมูลส่วนตัวพื้นฐานที่จะได้ไปแล้ว อาจจะมีข้อมูล เลขรหัสสำคัญเกี่ยวกับบัญชีธนาคาร บัตรเครดิตหรือบัตร ATM ด้วย
  • เข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์ของเราด้วยการให้เรากด “ยินยอมให้เข้าถึงข้อมูล”

ในการสมัครแอปเงินกู้ผิดกฎหมายจะมาพร้อมกับคำขอสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์ของเรา ที่มีการขอเข้าถึงข้อมูลของเราทั้ง ข้อมูลที่เป็นความลับในปฏิทิน, ภาพถ่ายและVDO, รายชื่อติดต่อในโทรศัพท์, GPS, ข้อมูลโทรศัพท์ที่จะสามารถอ่านสถานะและข้อมูลระบุตัวตนของอุปกรณ์ รวมไปจนถึงพื้นที่ในการเก็บข้อมูลของ SD Card เรียกได้ว่ายึดข้อมูลในโทรศัพท์ทั้งหมดของเราไปเลย

3 วิธีการรับมือเมื่อแอปเงินกู้นอกระบบได้ข้อมูลของเราไป

1. เปลี่ยนรหัสผ่านใหม่ทั้งหมด

ไม่ว่าจะเป็นรหัสเข้าเครื่อง รหัส Mobile Banking รหัสในการเข้าใช้แอปสำคัญต่าง ๆ รวมไปจนถึงรหัสเข้าใช้แอป Social Media ของเราด้วยเพื่อลดความเสี่ยงในการเข้าถึงข้อมูลเราให้ได้มากที่สุด และแนะนำว่ารหัสใหม่ ให้เลี่ยงการใช้ชื่อของตัวเอง, เลขบัตรประจำตัวประชาชน, วันเดือนปีเกิด หรืออะไรที่มิจฉาชีพสามารถคาดเดาได้ง่าย

2. ระงับการใช้บัตรเดบิต/บัตรเครดิต (หากได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับบัตรไป)

โดยให้รีบโทรไปหา Call Center ของผู้ให้บริการบัตรเดบิต/บัตรเครดิตนั้น ๆ เพื่อขออายัดบัตรไว้ชั่วคราว

3. หยุดติดต่อกับพนักงานจากแอปยืมเงินนอกระบบ

เบื้องต้นในการรับมือการถูกข่มขู่ คุกคามชีวิตหากรู้สึกไม่ปลอกภัย ให้หยุดการใช้เบอร์โทรศัพท์ที่ใช้ติดต่อกับแก๊งค์แอปยืมเงินนอกระบบไปก่อน รวมถึงบล็อกเฟซบุ๊คและไลน์ที่มิจฉาชีพใช้ติดต่อเราด้วย (ก่อนบล็อกควรเก็บข้อมูลหลักฐานให้เรียบร้อยก่อน และไม่ควรลบข้อมูลเหล่านี้ทิ้ง)

รวมถึงควรแจ้งบุคคลที่เรามีเบอร์โทรศัพท์อยู่ในเครื่องที่คิดว่ามิจฉาชีพจะทำการโทรไปข่มขู่และคุกคามให้ทราบถึงปัญหาและให้เขาบล็อคเบอร์ของมิจฉาชีพไปด้วย

รวบรวมหลักฐานแจ้งความที่สถานีตำรวจ

รวบรวมทั้งบทสนทนากับแก๊งค์แอปเงินกู้นอกระบบทั้งทางแชท หรือ SMS ทั้งที่ส่งให้เราและส่งไปก่อกวนคนรอบตัวเรา, ชื่อแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์, หลักฐานการโอนเงิน หรือการได้รับเงินโอน และสมุดบัญชีธนาคารเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุ เช่น หากมีการขู่กรรโชก, คุกคามชีวิต หรือมีการบังคับให้เราโอนเงินให้ที่ไหน ให้ไปแจ้งความที่เขตนั้น

ซึ่งในการข่มขู่และคุกคามชีวิตของแก๊งค์แอปเงินกู้นอกระบบเราสามารถเข้าแจ้งความตามความผิด พ.ร.บ.คอมฯ เป็นเรื่องของการคุกคาม ข่มขู่ และพ.ร.บ. ทวงหนี้ได้ด้วย ส่วนบุคคลใกล้ชิดผู้กู้หรือบุคคลที่สามที่มิจฉาชีพโทรหรือส่ง SMS ไปข่มขู่ คุกคาม ก็สามารถรวบรวมหลักฐานและนำมาแจ้งความได้เช่นเดียวกัน

นอกจากนั้นยังสามารถขอความช่วยเหลือจากสายด่วนเหล่านี้ได้เลย

  • สายด่วน 1599 ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือกรอกข้อมูลที่ต้องการแจ้งผ่านเว็บไซต์ pct.police.go.th  
  • สายด่วน 1213 สายด่วนธนาคารแห่งประเทศไทย
  • สายด่วน 1202 กรมสอบสวนคดีพิเศษ DSI
  • สายด่วน 1155 ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์การกู้ยืมเงิน โดยสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  • สายด่วน 1567 ศูนย์ดำรงธรรม
  • สายด่วน 1359 ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
  • สายด่วน 1157 ปรึกษาคดีหนี้นอกระบบ (เฉพาะวันจันทร์ – ศุกร์)
  • ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม โทร 02 575 3344

หากตกอยู่ในสถานการณ์เหล่านี้แม้จะไม่สามารถทวงคืนข้อมูลหรือลบข้อมูลจากแอปเงินกู้นอกระบบได้ เราควรจะต้องตั้งสติให้ดีและที่สำคัญอย่าไปกลัวคำข่มขู่ คุกคามมากจนยอมทำตามสิ่งที่ทางมิจฉาชีพต้องการ อย่างเช่น การโอนเงิน หรือให้ข้อมูลสำคัญของเราเพิ่ม

เพราะโดยส่วนมากแล้วหากเป็นแอปเงินกู้นอกระบบจะสามารถคุกคามเราได้ผ่านแค่หน้าจอ และการโทรศัพท์เท่านั้น ยังไม่มีการมาทำร้ายถึงที่บ้านเหมือนแก๊งค์กู้นอกระบบหมวกกันน็อคที่เราเคยพบตามข่าว สิ่งที่ควรทำให้เร็วที่สุดเมื่อรู้แล้วว่าเรากำลังตกเป็นเหยื่อคือการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดแล้วแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจครับ

Jirapa Sawatanan

Creative & Content creator ประสบการณ์เขียนบทความเกี่ยวกับการเงินและหมวดหมู่ที่เกี่ยวข้อง 2 ปี Linkedin
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments