You are currently viewing ซื้อที่ดินเพื่อการเกษตร ขอสินเชื่ออย่างไรให้ผ่าน

อยากเป็นเกษตรกรแต่ยังไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง และยังไม่มีเงินทุน สามารถขอสินเชื่อเพื่อซื้อที่ดินไว้ทำการเกษตรได้ครับ ส่วนการขอสินเชื่อจะต้องเตรียมตัวอย่างไร ทำยังไงให้ขอสินเชื่อผ่าน ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง มาดูกันครับ

หากต้องการขอสินเชื่อซื้อที่ดินเพื่อนำมาทำการเกษตร สิ่งสำคัญนอกจากเอกสารเบื้องต้นที่ใช้ในการยื่นขอสินเชื่อ คือแผนโครงการ หรือแผนประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการเกษตร เพื่อให้ธนาคารที่เรายื่นกู้มองเห็นภาพโครงการที่เราจะมาทำประโยชน์บนที่ดินผืนนั้น ๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น จะช่วยเพิ่มโอกาสในการอนุมัติได้มากยิ่งขึ้นครับ

แผนประกอบธุรกิจการเกษตรควรจะมีข้อมูลอะไรบ้าง และมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อจากสถาบันการเงินไหนที่น่าสนใจและรองรับการของสินเชื่อที่ดินเพื่อการเกษตร ติดตามอ่านต่อได้เลยครับ

เรื่องต้องรู้ ขอสินเชื่อซื้อที่ดินเพื่อการเกษตรให้ผ่าน

โดยปกติแล้วการซื้อที่ดินเปล่านั้นจำเป็นจะต้องมีวัตถุประสงค์ในการใช้งานที่ดินนั้น ๆ ยื่นไปด้วย ถึงจะมีโอกาสที่จะผ่านการพิจารณา การกู้ซื้อที่ดินเพื่อนำมาทำการเกษตรก็เป็นอีกหนึ่งในกลุ่มการซื้อที่ดินเพื่อนำไปประกอบกิจการต่าง ๆ เช่นกัน เพราะฉะนั้นจำเป็นจะต้องเตรียมความพร้อมมาอย่างดี 

โดยผู้กู้จะต้องมีแผนประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการเกษตร เพื่อให้ธนาคารเห็นทิศทางและความเป็นไปได้ และนำไปประกอบการพิจารณา ตัวอย่างสิ่งที่ควรมีในแผนธุรกิจ แนะนำให้มี 3 เรื่องนี้ครับ

แผนการตลาด

ต้องจัดทำให้เห็นถึงโอกาส ช่องทางในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย มุมมองในการสร้างรายได้ และการหมุนเวียนเงินของธุรกิจให้เกิดประสิทธิภาพ

แผนการผลิต

มีแผนงานการผลิตที่สอดคล้องกับสภาวะตลาดและสภาพการแข่งขัน มีแผนการจัดการการผลิตที่มีประสิทธิภาพ

แผนการเงิน

เป็นการบริหารด้านเงินทุน ค่าใช้จ่าย รายได้ วิเคราะห์ทางการเงินเพื่อประเมินความคุ้มค่าในการลงทุน

ยิ่งทำให้ทางสถาบันการเงินเห็นภาพโครงการที่เรากำลังจะทำบนที่ดินผืนนั้นได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสความเป็นไปได้ในการอนุมัติมากขึ้นเท่านั้นเลยครับ

แนะนำสินเชื่อซื้อที่ดินเพื่อทำการเกษตร

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นอีกหนึ่งธนาคารที่มีผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่รองรับความต้องการกู้ซื้อที่ดินเพื่อนำมาทำการเกษตรอยู่หลายตัวครับ โดยหลักแล้วธนาคารจะพิจารณาจาก วัตถุประสงค์การกู้, วงเงินกู้, หลักทรัพย์ค้ำประกัน, การประกอบอาชีพ และภาระหนี้สิน ซึ่งสินเชื่อที่ดินที่หน้าสนใจ ยกตัวอย่างเช่น

1.สินเชื่อสานฝันเกษตรกรรุ่นใหม่

สินเชื่อค่าใช้จ่ายหรือค่าลงทุนในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม หรืออาชีพเกี่ยวเนื่องภาคการเกษตร

คุณสมบัติของผู้กู้

  • เป็นทายาทเกษตรกรอยู่แล้ว หรือบัณฑิตที่จบการศึกษาใหม่ รวมทั้งเกษตรกรรุ่นใหม่ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว อายุไม่เกิน 45 ปี
  • ผ่านการอบรม ที่มีความรู้ทางด้านการเกษตรรวมทั้งธุรกิจการเกษตร
  • ขึ้นทะเบียนเป็นลูกค้าของธนาคาร ตามข้อบังคับฉบับที่ 44
  • อัตราดอกเบี้ยตาม MRR ของธนาคาร หรือปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 7 ต่อปี หรือ 0.59 ต่อเดือน สำหรับกรณีกู้เพื่อนำไปลงทุน จะให้ระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 10 ปี

2.โครงการสินเชื่อเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตการเกษตรสู่ความยังยืน

สินเชื่อที่เหมาะกับคนทั่วไปที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนเกษตรแนวใหม่ พัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร สร้างความยั่งยืน

คุณสมบัติของผู้กู้

  • เป็นบุคคลทั่วไปที่บรรลุนิติภาวะ หรือเกษตรทั่วไป
  • เป็นผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคล
  • วิสาหกิจชุมชนหรือองค์กร
  • กลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์การเกษตร

อัตราดอกเบี้ยเกษตรกรหรือบุคคลทั่วไป ในช่วง 1-3 ปีแรก อัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-1 ส่วนตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไป MRR จะเท่ากับที่ธนาคารกำหนด ส่วนผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคล วิสาหกิจชุมชน องค์กร กลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์การเกษตร ในช่วง 1-3 ปีแรก อัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MLR-0.5 ส่วนตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไป MLR จะเท่ากับที่ธนาคารกำหนด

หากสนใจสามารถเตรียมเอกสารดังต่อไปนี้ ไปติดต่อขอขึ้นทะเบียนเป็นลูกค้าผู้กู้ที่ ธนาคาร ธ.ก.ส. ได้เลย เอกสารเบื้องต้นที่ต้องนำไปดังนี้ครับ

  • บัตรประจำตัวประชาชนของตนเอง + คู่สมรส
  • ทะเบียนบ้านของของตนเอง + คู่สมรส
  • ทะเบียนสมรสหรือทะเบียนหย่า (ในกรณีที่มี)
  • ใบเปลี่ยนชื่อ – นามสกุล (ในกรณีที่มี)
  • โครงการที่เสนอกู้

นอกจากนั้นก็จะมีสินเชื่ออีกตัวที่น่าสนใจจากธนาคารออมสิน นั่นคือ

3. สินเชื่อ SMEs เพื่อธุรกิจเกษตร

สินเชื่อเพื่อลองรับวัตถุประสงค์ทั้งเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ และลงทุนในสินทรัพย์ถาวร

คุณสมบัติผู้กู้

  • เป็นบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ หรือนิติบุคคลหรือวิสาหกิจชุมชน/สหกรณ์การเกษตร
  • ผู้ประกอบธุรกิจ

มีวงเงินให้กู้แบบระยะยาว โดยจะชำระเงินกู้ไม่เกิน 7 ปี อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปีที่ 1 ร้อยละ 3.99 ต่อปี ปีที่ 2 ร้อยละ 4.99 ต่อปี และปีที่ 3 – 7 ให้เป็นไปตาที่ธนาคารกำหนด

เบื้องต้นหากยังไม่มั่นใจเราสามารถเข้าไปขอคำปรึกษากับเจ้าหน้าที่สินเชื่อของแต่ละธนาคารก่อนได้ครับ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่เองก็จะวิเคราะห์คุณสมบัติให้เบื้องต้นว่าเป็นไปตามเงื่อนไขของธนาคารหรือไม่ จำเป็นต้องใช้เอกสารอะไรเพิ่มเติม หรือต้องปรับแก้ในส่วนของแผนโครงการธุรกิจที่เสนอกู้อย่างไร

Jirapa Sawatanan

Creative & Content creator ประสบการณ์เขียนบทความเกี่ยวกับการเงินและหมวดหมู่ที่เกี่ยวข้อง 2 ปี Linkedin
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments