You are currently viewing ยังไม่มีเงินก้อน จะซื้อที่ดินต้องวางแผนอะไรบ้าง

สำหรับใครที่อยากมีสินทรัพย์เป็นของตัวเอง อยากซื้อที่ดินแต่ยังไม่มีเงินก้อน จะต้องวางแผนอะไรบ้าง มีวิธีไหนที่สามารถกู้ซื้อที่ดินได้ จำเป็นจะต้องเก็บเงินสำรองเท่าไหร่ มาดูกันครับ

หากไม่มีเงินก้อนเลย และต้องการกู้ซื้อที่ดิน จำเป็นจะต้องมีวัตถุประสงค์ในการใช้งานที่ดินผืนนั้น ๆ ให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรม เพื่อที่จะได้ทำเรื่องยื่นขอกู้ได้ง่ายยิ่งขึ้น และส่วนสำคัญอีกเรื่องนั่นคือจะต้องวางแผนเก็บเงินสำรอง เพราะแต่ละกระบวนการของการกู้ซื้อจะมีค่าใช้จ่ายที่เราต้องจ่ายเองด้วย การกู้ซื้อที่ดินสำหรับคนไม่มีเงินก้อนจึงอาจจะต้องใช้ระยะเวลาสักหน่อยครับ

จะต้องทำยังไงให้กู้ซื้อที่ดินให้ผ่านได้ง่าย ๆ และจะต้องเก็บเงินสำรองไว้จ่ายค่าอะไรบ้าง อ่านต่อได้เลย

วางแผนซื้อที่ดิน ฉบับคนไม่มีเงินก้อน

สำหรับคนไม่มีเงินก้อนเลย แต่ก็ไม่อยากต้องมานั่งรอเสียเวลาเก็บเงิน หากต้องการกู้ซื้อที่ดินก่อนอื่นเลยต้องรู้เงื่อนไขที่สำคัญของการกู้ซื้อนั่นคือ การกู้ซื้อที่ดินเปล่า ๆ มาถือครองไว้แบบไม่มีจุดประสงค์ในการใช้งานที่ดินผืนนั้น เป็นไปได้ยากมากที่ธนาคารจะอนุมัติ ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องมีวัตถุประสงค์ในการใช้งานที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย, หรือทำธุรกิจต่าง ๆ ถึงจะสามารถกู้ผ่านได้ง่ายขึ้น 

และอีกเรื่องคือควรมีเงินเก็บสำรองไว้ครับ เพราะแม้ธนาคารจะอนุมัติก็อนุมัติให้ได้มากสุดเพียง 80% ราคาประเมิน แถมยังจะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินเรื่องอีกมากมาย หากไม่มีเงินเก็บสำรองเลยการซื้อที่ดินอาจจะเป็นไปได้ยากสักหน่อยครับ

สำหรับการวางแผนกู้ซื้อที่ดิน ก่อนอื่นต้องสำรวจความต้องการก่อนว่าเรามีจุดประสงค์อะไรในการซื้อ

  • กู้ซื้อเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย : จะสามารถกู้สินเชื่อประเภทที่อยู่อาศัยได้ โดยจะต้องกู้ซื้อที่ดินพร้อมกับกู้สร้างบ้าน และมีเอกสารหลักฐานรับรองการก่อสร้างมายื่นให้กับธนาคาร
  • กู้ซื้อเพื่อทำธุรกิจ : จะสามารถกู้เป็นสินเชื่อเพื่อธุรกิจได้ โดยจะต้องมีแผนงานธุรกิจแบบเป็นรูปธรรมมายื่นให้กับธนาคาร

แล้วถ้าหากไม่ได้มีจุดประสงค์ หรือไม่มีโครงการในการใช้ที่ดินเลย ก็ยังมีวิธีให้สามารถกู้ซื้อได้ครับ แต่จะต้องไปกู้ซื้อที่ดินเปล่าที่เป็นทรัพย์รอการขายของธนาคาร หรือเรียกง่าย ๆ ว่าที่ดินที่ธนาคารยึดมาจากลูกหนี้เก่านั่นเอง

แต่อย่างไรก็ตามธนาคารก็จะมีการกำหนดมาตรการและเงื่อนไขต่าง ๆ อย่างเข้มงวด อย่างการกำหนดให้ผ่อนชำระหนี้ภายในระยะเวลาเพียง 10 ปี นั่นแปลว่าเราจะต้องผ่อนแต่ละงวดต่อเดือนในระดับที่สูงมาก ๆ

เมื่อเลือกได้แล้วว่าจะกู้ซื้อที่ดินในรูปแบบไหน ต่อมาคือค่าใช้จ่ายที่เราจำเป็นต้องรู้ในการกู้ซื้อที่ดิน เพื่อจะได้สามารถเก็บเงินสำรองได้ถูกต้อง

เงินสำรองสมทบการกู้ซื้อ

อย่างที่ได้บอกไปข้างต้นครับ ว่าธนาคารสามารถอนุมัติวงเงินกู้ซื้อที่ดินได้มากสุดอยู่ที่ 80% “ของราคาประเมิน” ไม่ใช่ราคาซื้อ-ขาย นั่นแปลว่าหากราคาซื้อ – ขายสูงกว่าราคาประเมินมาก ๆ เราก็ต้องมีเงินสำรองมาจ่ายสมทบในส่วนนี้มากเช่นกัน นอกจากนั้นในการซื้อที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย หรือเพื่อธุรกิจ

บางธนาคารก็ไม่ได้อนุมัติเต็มวงเงินมาให้เช่นกัน และจะทยอยจ่ายให้เราเป็นงวด ๆ ด้วย เพราะฉะนั้นแล้วจึงจำเป็นจะต้องมีเงินสำรองในการใช้จ่ายหน้างานต่าง ๆ ด้วย

เงินสำรองในการมัดจำที่ดิน

โดยส่วนมากแล้วผู้ขายที่ดินจะให้เราวางเงินมัดจำไว้ก่อน นอกจากนั้นยังอาจจะเก็บเงินดาวน์จากเราก่อน ถึงจะยอมให้หนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเรามา ซึ่งหนังสือสัญญานี้จำเป็นที่จะต้องนำมาใช้ในการยื่นกู้กับธนาคารนั่นเอง

เงินสำรองเพื่อใช้โอนที่ดิน

ค่าใช้จ่ายในการโอนที่ดินจะต้องเตรียมค่าใช้จ่ายดังนี้ ค่าธรรมเนียมการโอน 2% ของราคาประเมิน (แบ่งคนละครึ่งกับผู้ขาย) และค่าจดจำนอง 1% ของมูลค่าจำนอง ทั้งนี้ในปี 65 ภาครัฐในออกนโยบายลดค่าใช้จ่ายในการโอนที่ดินแต่ก็จะต้องไปดูอีกทีว่าที่ดินที่เราจะโอนนั้นเข้าข่ายเงื่อนไขของนโยบายหรือไม่

จะเห็นได้ว่าการกู้ซื้อที่ดินควรมีเงินเก็บไว้เพื่อเป็นค่าดำเนินการในส่วนต่าง ๆ ค่อนข้างเยอะ จึงอาจจะต้องใช้เวลาเก็บสักหน่อย ถ้าตอนนี้ใครยังไม่ได้วางแผนก็มาเริ่มกันได้เลย

Jirapa Sawatanan

Creative & Content creator ประสบการณ์เขียนบทความเกี่ยวกับการเงินและหมวดหมู่ที่เกี่ยวข้อง 2 ปี Linkedin
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments