You are currently viewing อยากสร้างบ้านแต่ไม่มีเงิน วางแผนและตั้งเป้าหมายอย่างไร

อยากสร้างบ้านแต่ไม่มีเงิน ถ้ารอเก็บออมสร้างบ้านด้วยเงินสดคงจะใช้ระยะเวลาเก็บที่นานไปสำหรับใครหลายคน สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสร้างบ้านจึงเป็นทางเลือกที่ดีครับ แต่ถึงอย่างไรก็ยังจำเป็นต้องมีเงินสำรองอยู่ดี

เพราะจะต้องใช้เงินสำรองของเราในการดำเนินงานต่าง ๆ ด้วย หากอยากสร้างบ้านแต่ไม่มีเงิน ควรจะต้องเริ่มตั้งหลัก วางแผนและตั้งเป้าหมายอย่างไร มาเริ่มต้นไปพร้อม ๆ กันเลยครับ

หัวใจสำคัญของการกู้เงินสร้างบ้าน คือการตั้งเป้าหมายด้านการเงินให้ดีเพราะแม้จะกู้เงินมาสร้างบ้านแล้ว ก็จำเป็นจะต้องมีเงินสำรองไว้ดำเนินการต่าง ๆ ประมาณ 30% – 50% ของงบประมาณสร้างบ้าน นอกจากนั้นควรวางแผนและศึกษาขั้นตอนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจความต้องการ, วางแผนงบประมาณ, ศึกษาสินเชื่อสร้างบ้านของแต่ละธนาคาร รวมถึงศึกษาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับงานก่อสร้าง ด้วย

ทำไมจะต้องสำรองเงิน 30% – 50% ของค่าใช้จ่ายการก่อสร้าง การวางแผนขั้นตอนต่าง ๆ มีรายละเอียดอย่างไร อ่านต่อกันได้เลยครับ

อยากสร้างบ้านแต่ไม่มีเงิน ควรตั้งเป้าหมายในการเก็บเงินสำรอง

เงินสำรองจำเป็นมาก ๆ สำหรับคนที่ต้องการกู้เงินสร้างบ้าน เพราะแม้เราจะขอสินเชื่อเพื่อสร้างบ้านมาแล้วแต่ก็อาจจะไม่ได้วงเงินเต็ม 100% ที่เรายื่นขอ ธนาคารอาจจะอนุมัติอยู่ที่ 80% นั่นก็แปลว่าเราจะต้องมีเงินสำรองในส่วนนี้อีก 20% ของราคาการก่อสร้างบ้าน 

นอกจากนั้นสำหรับการกู้เงินสร้างบ้าน ธนาคารจะแบ่งทยอยจ่ายมาให้เราเป็นงวด ๆ ทำให้เราจำเป็นจะต้องสำรองเงินในการก่อสร้าง ค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นแล้ว แนะนำให้ตั้งเป้าในการเก็บเงินสำรองสำหรับสร้างบ้านอยู่ที่ประมาณ 30% – 50% ของราคาก่อสร้างบ้านครับ

ศึกษาหาข้อมูล วางแผนการสร้างบ้านอย่างไร ?

ระหว่างที่กำลังเก็บเงินสำรองเพื่อใช้ในการสร้างบ้านตามที่ได้บอกไปด้านบน ในช่วงนี้ก็ถือเป็นโอกาสดีที่เราจะได้มีเวลาทำการบ้าน เตรียมความพร้อม วิเคราะห์หาสิ่งที่คุ้มค่าและถูกใจเรา เพราะแน่นอนว่าการสร้างบ้านไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ และการสร้างบ้านหลังนี้สำหรับบางคนอาจจะเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตเลยก็ได้

จึงควรทำออกมาให้ตรงตามความต้องการและเหมาะสมกับตัวเราให้ได้มากที่สุด โดยสิ่งที่เราควรวางแผนมีดังนี้

1. สำรวจความต้องการ

ข้อนี้สำคัญมาก ๆ เราจำเป็นต้องรู้ว่าอยากได้บ้านแบบไหน หลังใหญ่แค่ไหน เหมาะกับจำนวนสมาชิกหรือไม่ ควรมีชั้น กี่ห้องนอน กี่ห้องน้ำ ครัวไทยหรือครัวฝรั่ง ชอบการออกแบบและการตกแต่งสไตล์ไหน ตัดสินใจให้ดีจะได้ไม่มีปัญหาในระหว่างการก่อนสร้าง

2. วางแผนงบประมาณ

เมื่อรู้ความต้องการของตัวเองก็สามารถวางงบประมาณที่จะใช้สร้างบ้านได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งหลัก ๆ แล้วงบประมาณที่จะต้องเตรียมแบ่งออกเป็น 3 ก้อน คือ

งบประมาณถมดิน

หากที่ดินของใครไม่จำเป็นต้องปรับหน้าดินก็ตัดงบก้อนนี้ทิ้งไปเลย แต่หากที่ดินจำเป็นจะต้องถม ก็จะต้องเก็บเงินในส่วนนี้ด้วย เพราะงบการถมที่ดิน ส่วนมากทางสถาบันการเงินจะไม่นับรวมเข้าไปในการขอสินเชื่อครับ เจ้าของบ้านจะต้องจัดการเงินในส่วนนี้เอง

งบประมาณสร้างบ้าน

ตรงส่วนนี้ต้องศึกษาหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นแบบบ้านที่เราต้องการจะเป็นแบบไหน หาจากแบบสำเร็จรูปได้หรือไม่ หรือจะต้องใช้สถาปนิกออกแบบ, ผู้รับเหมาที่จะจ้าง เป็นผู้รับเหมารายย่อยหรือบริษัทรับเหมามืออาชีพ รวมไปจนถึงเกรดวัสดุที่ต้องการ จะทำให้เรามองเห็นภาพงบประมาณในการสร้างบ้านมากขึ้น

งบประมาณตกแต่งภายในบ้าน

แบบบ้านที่เราคิดจะเป็นบิวท์อินหรือแค่เฟอร์นิเจอร์แบบลอยตัว ศึกษาหาข้อมูลราคารวบรวมไว้ก็จะสามารถคำนวณงบก้อนนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

เมื่อรู้งบประมาณทั้งหมดคร่าว ๆ ก็มาเริ่มเก็บเงินจำนวน 30% – 50% ของงบประมาประมาณสร้างและตกแต่งบ้านได้เลย และอย่าลืมเก็บเงินเพิ่มสำหรับใครที่จำเป็นต้องถมที่ดินด้วยนะครับ

3. ศึกษาสินเชื่อบ้านแต่ละธนาคาร

ผลิตภัณฑ์สินเชื่อปลูกสร้างที่อยู่อาศัย มีให้เลือกหลายธนาคาร ในระหว่างเก็บเงินนี้ควรลองสำรวจข้อมูล เงื่อนไข ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม วงเงินอนุมัติของแต่ละธนาคารไว้ แล้วเลือกธนาคารที่เราสนใจไว้ 2 – 3 แห่ง นอกจากนั้นอย่าลืมศึกษาเอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นกู้สร้างบ้านด้วย ไม่ว่าจะเป็น ใบขออนุญาตจากกรมที่ดิน, แบบแปลนบ้าน และสัญญาว่าจ้างผู้รับเหมา

4. ศึกษาความรู้เกี่ยวกับงานก่อสร้าง

เมื่อเราตัดสินใจเลือกสร้างบ้านเอง ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับงานก่อสร้าง และขั้นตอนการสร้างบ้าน จำเป็นจะต้องศึกษาไว้บ้างครับ เพราะเมื่อถึงเวลาก่อสร้างจริงแล้วเราจะได้สามารถพูดคุยถึงความต้องการกับผู้รับเหมา รู้ขั้นตอนในการสร้างบ้านที่ควรจะเป็น แถมยังช่วยให้ไม่ถูกเอาเปรียบจากผู้รับเหมาด้วย โดยขั้นตอนการสร้างบ้านทั่วไป แบ่งออกเป็นขั้นตอนใหญ่ ๆ ดังนี้

  • ขั้นตอนที่ 1 : ตอกเข็มหล่อฐานราก คานคอดิน และตั้งเสาชั้นล่าง
  • ขั้นตอนที่ 2 : หล่อคานชั้นบน (สำหรับบ้าน 2 ชั้น) และตั้งหรือหล่อเสาสำหรับรับหลังคา
  • ขั้นตอนที่ 3 : มุงหลังคา ก่ออิฐผนัง ฉาบปูน ตั้งวงกบ ใส่ฝ้าเพดาน
  • ขั้นตอนที่ 4 : ปูวัสดุพื้น ติดตั้งประตู หน้าต่าง ติดตั้งระบบท่อน้ำ
  • ขั้นตอนที่ 5 : บุผนังกระเบื้อง ติดตั้งสุขภัณฑ์ ทาสี เดินสายไฟ ติดตั้งโคมไฟ
  • ขั้นตอนที่ 6 : ตรวจสอบความถูกต้องเรียบร้อย และเก็บรายละเอียด

ทริคเพิ่มเติมให้อีกนิดเมื่อเรารู้วงเงินที่ต้องการจะขอกู้ และอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแล้ว เราก็จะสามารถนำมาคำนวณยอดผ่อนต่อเดือนได้คร่าว ๆ ด้วยโปรแกรมคำนวณที่มีให้ใช้ฟรีตามเว็บไซต์ต่าง ๆ เช่น https://www.home.co.th/mortgage ซึ่งเว็บนี้ก็จะคำนวณจากรายได้ของเราออกมาเป็นวงเงินที่เราสามารถกู้ได้ พร้อมกับคำนวณยอดผ่อนต่อเดือนมาให้เลยครับ

เมื่อรู้ยอดผ่อนคร่าว ๆ แล้วแนะนำให้ลองเก็บเงินสำรองสร้างบ้างเท่ายอดผ่อน สมมุติว่ายอดผ่อนต่อเดือนคำนวณได้แล้วอยู่ที่ 10,000 บาท ดังนั้นเงินขั้นต่ำในการเก็บต่อเดือนก็ไม่ควรน้อยกว่า 10,000 บาทครับ นอกจากจะได้เงินก้อนแบบรวดเร็วแล้ว ยังได้ลองซ้อมจริง ๆ ว่าหากเราจะต้องผ่อนชำระกับธนาคารเราจะผ่อนไหวไหม ทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงินหรือไม่ ก็จะช่วยให้เราได้เตรียมพร้อมปรับเปลี่ยนวางแผนด้านการเงินใหม่ได้ทันก่อนที่จะยื่นกู้จริงครับ

Jirapa Sawatanan

Creative & Content creator ประสบการณ์เขียนบทความเกี่ยวกับการเงินและหมวดหมู่ที่เกี่ยวข้อง 2 ปี Linkedin
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments