You are currently viewing เงินเฟ้อ ฉบับเข้าใจง่าย ผลกระทบที่เกิดขึ้น อัตราเงินเฟ้อย้อนหลัง

พูดถึงข่าวการเงินที่น่าจะส่งผลกระทบมากที่สุดในปีนี้คือเรื่องของอัตราเงินเฟ้อประเทศไทย ปัจจุบันอยู่ที่ 5.28% อ้างอิงจากข่าว เป็นอัตราเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 13 ปี ผลพวงจากราคาน้ำมันโลก ปัจจัยเศรษฐกิจต่าง ๆ ซึ่งส่งผลให้ของกินรวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้ในแต่ละหมวดหมู่ ทะยอยมีราคาสูงขึ้น โดยที่รายได้ของเรานั้นอาจจะไม่ได้เพิ่มตาม

การเงินแบบชาวบ้าน จึงจะพาทุกคนมารู้จักกับ “เงินเฟ้อ” ในแบบฉบับที่เข้าใจง่าย ไปจนถึงสาเหตุ ข้อดี กลกลควบคุม ผลกระทบที่เกิดขึ้น, ค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อจากทั่วโลก ค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อในไทย และดูกันว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเงินเฟ้อมาก ๆ เพื่อเป็นความรู้และเตรียมพร้อมในการรับมือครับ

รู้จักกับเงินเฟ้อ

เงินเฟ้อ คือ?

เงินเฟ้อ (Inflation) คือภาวะที่ราคาสินค้าหรือบริการสูงขึ้นจนทำให้เงินตราของเรามีมูลค่าน้อยลง จนทำให้ต้องเพิ่มจำนวนเงินในการซื้อของหนึ่งสิ่งเพิ่มขึ้น ตัวอย่างง่าย ๆ ที่มองเห็นได้ใกล้ตัวที่สุดคือ ราคาอาหารตามสั่งที่มีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี จนทำให้เงินจำนวนเท่าเดิมไม่สามารถซื้ออาหารตามสั่งได้

เงินเฟ้อ คืออะไร

เมื่อ 20 ปีที่แล้วคุณอาจเคยซื้อข้าวกะเพราในราคาจานละ 20 บาท แต่ปัจจุบันอาจจะต้องซื้อในราคา 70 บาท นั่นเพราะมูลค่าของเงินบาทกำลังลดลงสวนทางกับราคาสินค้าและบริการ ทั้งนี้เงินเฟ้อไม่ได้มีแต่มุมที่น่ากลัว ถ้าอัตราเงินเฟ้อเติบโตไปพร้อม ๆ กับรายได้ของคุณที่มากขึ้นทุกปี นั่นแปลว่าเศรษฐกิจมีการเติบโตในทิศทางเดียวกับรายได้

สิ่งที่ทำให้เงินเฟ้อน่ากลัวสำหรับชาวบ้านแบบเรา ๆ เลยคือ ราคาของสิ่งของที่เพิ่มขึ้น แต่รายได้ของเราไม่เพิ่มขึ้นไปด้วยมากกว่า ดังตัวอย่างราคากะเพราที่ตอนนี้อาจจะ 70 บาทแล้ว แต่เงินเดือนขั้นต่ำยังอยู่ที่ 15,000 ต่อเดือนเท่าเดิม ค่าแรงขั้นต่ำยังเท่าเดิม ไม่ไปไหน นี่คือสิ่งที่อันตรายของเงินเฟ้อครับ

ผลกระทบเงินเฟ้อ
ราคากะเพราเปรียบเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ ปี 2012 – 2018 – 2020 – 2023

และด้วยอัตราเงินเฟ้อปีปัจจุบัน 5.73% นั่นแปลว่าถ้าเป็นมนุษย์เงินเดือน แล้วเงินเดือนขึ้นไม่ถึง 5.73% ตามมาด้วย หรือ ทำธุรกิจเทียบปีต่อปีแล้วเติบโตไม่ถึง 5.73% มูลค่าของเงินที่คุณมีอยู่จะมีมูลค่าน้อยลง และต้องซื้อสินค้าบริการในราคาแพงขึ้นกว่าเดิม

ก่อนที่จะลงรายละเอียดลึกไปกับเงินเฟ้อมากกว่านี้ ซึ่งเราก็แนะนำให้ทำความเข้าใจกันก่อน ถ้าหากคุณใจร้อนอยากรู้ว่าเงินเฟ้อแล้วเราต้องทำยังไง คลิกไปอ่านที่นี่ ครับ

เงินเฟ้อเกิดจากอะไร ได้บ้าง

เงินเฟ้อ เกิดจากอะไรบ้าง

สาเหตุ 3 ประการของเงินเฟ้อมาจาก ความต้องการในการบริโภคที่สูงขึ้นกว่ากำลังการผลิต , ค่าใช้จ่ายในการผลิตที่มากขึ้น, การปรับตัวจากการคาดการณ์ ทั้งสามประการนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวันของเรา มาทำความรู้จักกันไปทีละอย่าง ครับ

ความต้องการในการบริโภคที่สูงขึ้นกว่ากำลังการผลิต

เมื่อมีความต้องการในการบริโภคสูงขึ้น อาจจะเนื่องจากผู้ซื้อ ผู้บริโภคแบบเรา ๆ มีกำลังในการซื้อสูงมาก แต่การผลิตสินค้ายังมีจำนวนเท่าเดิม ทำให้ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย ต้องขายสินค้าในมูลค่าที่สูงขึ้น ตามกฏ demand – supply เลยครับ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ สินค้าที่มีความต้องการในตลาดสูง ราคาจะเฟ้อขึ้นมาก เช่น PS5 ผู้ผลิตผลิตได้เท่าเดิม ทรัพยากรในการผลิตไม่พอ แต่ความต้องการของผู้บริโภคนั้นมากกว่า จองไม่ทัน ตัวกลางที่มีสินค้าจึงขึ้นราคาสินค้าได้ครับ ซึ่งราคาจริง ๆ ของ PS5 อาจจะอยู่ที่ 16,900 บาท แต่ราคาในตลาดซื้อขายกันที่ 28,000 – 30,000 บาท เลยทีเดียว

สิ่งนี้ก็เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่นกัน ราคาของหมูที่แพงขึ้นในช่วงหนึ่งเพราะ เกิดปัญหาโรคระบาด แต่กำลังในการบริโภคของคนยังเท่าเดิม ราคาสินค้าก็สูงขึ้น ถามว่าทำไมผู้ผลิตต้องขึ้นราคา ก็เพื่อให้สามารถหาวัตถุดิบหรือทรัพยากรมาขายได้ เพราะก็ต้องแข่งกันหามากขึ้นครับ มันจะเป็นเชนที่ต่อ ๆ กันเป็นลูกโซ่โดยที่รู้ตัวอีกทีผลกระทบก็เกิดขึ้นในภาพรวมแล้ว

ซึ่งผลกระทบเมื่อเกิดขึ้นในภาพใหญ่ระดับประเทศนั้น กลไกที่ช่วยได้คือการจัดการของรัฐบาลต้องมีการควบคุมการผลิต หรือออกนโยบายแก้ไขปัญหา ส่วนในมุมของชาวบ้านแบบเรา ๆ ถ้าแก้ปัญหาแบบไว ๆ ก็คือต้องงดการบริโภคสิ่งนั้นลง มองหาผลิตภัณฑ์ทดแทน และใช้สิทธิ์เสียงของตัวเองในการออกมาเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหานโยบาย

ค่าใช้จ่ายในการผลิตที่มากขึ้น

ในการผลิตสินค้าอะไรก็ตาม จะมีต้นทุนอยู่ครับ ซึ่งต้นทุนเหล่านี้อาจไม่คงที่ เช่น ทรัพยากรที่น้อยลง โดยเฉพาะทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป อย่างทรัพยากรธรรมชาติ ค่าใช้จ่ายในการจ้างงาน กรณีที่เห็นได้ชัดคือ เมื่อกำลังการผลิตน้ำมันลดลง ราคาน้ำมันสูงขึ้น ก็จะส่งผลกระทบให้กระบวนการผลิตต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

ดังจะเห็นเลยครับว่าเวลาราคาน้ำมันขึ้นทีไร สินค้าอุปโภค บริโภคขึ้นตามทุกที เพราะน้ำมันเป็นพลังงานเชื้อเพลิงหลัก ที่ใช้ในทุกขั้นตอน ผลิตกำลังไฟฟ้า , ขนส่ง

ทางแก้ของปัญหานี้อาจเป็นอะไรที่ชาวบ้านแก้ไม่ได้โดยตรง เป็นผลกระทบระดับโลก ซึ่งจริง ๆ ก็ได้มีการมองหาแหล่งพลังงานทดแทนในการผลิตมาตลอด อย่างเช่น พลังแสงอาทิตย์ พลังงานจากน้ำ แต่ในความเป็นจริงแหล่งพลังงานใหม่ ก็ยังมีต้นทุนในการเข้าถึงที่สูง และยังไม่สามารถการใช้น้ำมัน ที่มีความต้องการสูง และถึงจะราคาแพงแค่ไหนก็ยังเข้าถึงง่ายกว่าพลังงานใหม่

อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายการจัดการพลังงานของแต่ละประเทศครับ ถึงอย่างไรก็ตามน้ำมัน และถ่านหินยังเป็นแหล่งพลังงานหลักอยู่ดี เราอาจจะต้องเจอปัญหา ค่าใช้จ่ายในการผลิตที่มากขึ้นต่อไป

การปรับตัวจากการคาดการณ์/คาดหวัง

อีกหนึ่งปัจจัยเป็นเรื่องของความคาดหวัง คาดการณ์ สถานการภายในของบริษัท หรือประเทศ เช่นมีการเรียกร้องให้ปรับขึ้นเงินเดือนมากขึ้นกว่าอัตราเงินเฟ้อ มีการออกนโยบายเพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้อขึ้นแก้ปัญหาเงินฝืดเคือง ให้เกิดอัตราจ้างงานมากขึ้น

คืออย่างที่บอกครับว่าเงินเฟ้อไม่ได้มีแต่มุมที่แย่ มุมดี ๆ ก็มี เพราะทำให้เกิดการจ้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจได้เช่นกัน แต่มันต้องมีการควบคุม และเมื่อควบคุมไม่ได้ แก้ปัญหาไม่ทันการ ผลกระทบใหญ่ ๆ จึงอาจตามมา เพราะการควบคุมเงินเฟ้อนั้น อาจไม่ใช่สิ่งที่คนตัวเล็ก ๆ คนนึงจะทำได้ ปัญหามันใหญ่ในระดับประเทศ

แต่รัฐบาลนั้นมีหน้าที่ในการแก้ปัญหานี้โดยตรง ซึ่งการควบคุมเงินเฟ้อนั้นสามารถทำได้ด้วยกลไกควบคุมภาวะเงินเฟ้อ ดังต่อไปนี้

กลไกควบคุมภาวะเงินเฟ้อ

เงินเฟ้อสามารถควบคุมได้ แต่การควบคุมนั้นจะขึ้นอยู่กับรัฐบาลและธนาคารกลางเป็นผู้กำหนดเป็นหลัก

นโยบายการเงิน

การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้สูงขึ้น จะช่วยให้จำนวนเงินในระบบมีน้อยลง เพราะคนจะขอสินเชื่อใหม่ ๆ น้อยลง ธนาคารต้องหาเงินเพิ่มขึ้นเพื่อให้คนมากู้ แต่ไม่สามารถผลิตเงินใหม่ได้

เมื่อจำนวนเงินในระบบทั้งหมดมีน้อยลง มูลค่าเงินก็จะสูงมากขึ้นเอง

ตรึงอัตราแลกเปลี่ยน

การพยายามประคองอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศไว้ จะช่วยให้ลดมูลค่าเงินเฟ้อได้ อย่างสมมติในกรณีที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น เราจะซื้อของจากต่างประเทศได้ในราคาที่ถูกลง ภาคการนำเข้า,นักลงทุน,ผู้มีหนี้ระหว่างประเทศจะได้ผลประโยชน์ ส่วน ภาคการส่งออกจะเสียผลประโยชน์ เพราะได้มูลค่าจากการซื้อขายน้อยลง

ในทางกลับกันหากเงินบาทอ่อนค่า เราจะซื้อของจากต่างประเทศแพงขึ้น ภาคการนำเข้า,ลงทุน,หนี้ระหว่างประเทศจะเสียผลประโยชน์ ส่วนภาคการส่งออกจะได้ผลประโยชน์จากการซื้อขายที่ได้มูลค่ามากขึ้น

ซึ่งการผยุงอัตราเงินบาทไม่ให้แข็งค่า หรืออ่อนค่าจนเกิดไปจะช่วยป้องกันภาวะเงินเฟ้อไว้ได้

อย่างในปีนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือ เงินบาทอ่อนค่าลงและค่าน้ำมันแพงขึ้น ทำให้ผู้ผลิตสินค้าในไทยต้องซื้อน้ำมันแพงขึ้นจากราคาเดิม เหมือนเป็นผลกระทบสองต่อ ที่ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง

การควบคุมราคาการผลิต

ภาครัฐสามารถเข้ามาแก้ไขได้โดยการพยุง ควบคุมราคาการผลิต ควบคุมราคาสินค้า/ค่าจ้างในตลาดได้ เพราะการมีรัฐคือการที่สามารถออกนโยบายควบคุมได้นั่นเอง ถ้ามีการควบคุมราคาสินค้าไว้ จะทำให้ราคาสินค้าบางอย่างไม่สูงเกินไป ผู้ผลิตไม่สามารถจำหน่ายเกินราคาได้ ทำให้มูลค่าของเงินไม่สูญหายไป

และอีกทางหนึ่งคือภาครัฐสามารถออกนโยบาย ลดราคาน้ำมัน ที่เป็นอุปสงค์หลักจำเป็นในการผลิต เพื่อให้ผู้ผลิตไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น หรือสามารถออกนโยบายเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อให้ผู้บริโภคมีเงินใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าออกนโยบายเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ได้ดีขนาดนั้น ยิ่งมีผลทำให้เงินเฟ้อเข้าไปอีก

การแก้ปัญหาเงินเฟ้อจึงเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก มีหลากหลายภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง ภาครัฐต้องใส่ใจแก้ปัญหา และทำให้เศรษฐกิจของประเทศพัฒนามากยิ่งขึ้นไปกว่านี้แบบจับต้องได้ และควรเป็นการแก้ปัญหาที่เร่งด่วนครับ

จนถึงตอนนี้น่าจะเห็นได้แล้วว่า เงินเฟ้อเป็นปัญหาที่ใกล้ตัวคุณมาก ๆ และลำพังตัวคนเดียวอาจแก้ปัญหาไม่ได้เลยจริง ๆ แต่เราสามารถศึกษาผลกระทบ และวางแผนเอาตัวรอดในภาวะแบบนี้ไว้ได้ มาดูผลกระทบและดูว่าเงินเฟ้อไทย เงินเฟ้อโลกเป็นอย่างไรกันบ้าง

ข้อดีของเงินเฟ้อ

เงินเฟ้อก็มีข้อดีเหมือนกัน จริง ๆ อาจเป็นสภาวะที่ดีกว่าภาวะเงินฝืดอีกด้วย โดยข้อดีของภาวะเงินเฟ้อคือ

กระตุ้นให้คนใช้เงิน

เป็นการกระตุ้นให้คนใช้จ่ายในการลงทุน เนื่องจากการเก็บเงิน หรือฝากเงินเอาไว้เฉย ๆ จะไม่เพิ่มมูลค่าและทำให้ค่าเงินน้อยลง ดังจะเห็นได้ว่าอัตราเงินฝากปัจจุบันนั้นน้อยเอามาก ๆ แม้จะฝากประจำ ฝากประจำปลอดภาษีก็ตามแต่ ก็ยังได้ดอกเบี้ยไม่เท่ากับอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น

ผู้ที่มีเงินเก็บจึงต้องมองหาช่องทางลงทุน ใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มากกว่าจะเก็บเงินเอาไว้

ลดอัตราการว่างงาน

จริง ๆ แล้วถ้าเกิดเงินเฟ้อขึ้นในระดับนึง จะลดอัตราการว่างงานเพราะผู้ลงทุนจำเป็นต้องนำเงินมาลงทุนขยายกิจการ และต้องมีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจของเขาไปต่อได้ และยังคงได้กำไรกว่าการฝากเงินไว้เฉย ๆ

แต่ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในไทยปัจจุบัน ปี 2566 อาจจะไม่ได้ลดอัตราการวางงานลง เพราะเป็นสภาวะเงินเฟ้อที่สวนทางกับเศรษฐกิจในภาพรวม เพราะการจ้างงานเพิ่มในตอนนี้ผู้ลงทุนกลับมีความเสี่ยงมากขึ้น ดังนั้นการจะลดอัตราการวางงาน ต้องมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมาเสริมด้วย

ช่วยรักษาดอกเบี้ยธนาคารกลาง

ภาวะเงินเฟ้อช่วยรักษาอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารกลางให้มากกว่าศูนย์ ทำให้รัฐบาลสามารถประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้เช่นกัน

ผลกระทบที่เกิดขึ้น

ผลกระทบของเงินเฟ้อที่เราอาจประสบพบเจอกันแล้วก็คือเราต้องซื้อสินค้าเดิม ๆ กันในราคาที่แพงขึ้น แต่มาดูกันในระดับโลกกันดีกว่าว่าเงินเฟ้อระดับโลกเป็นอย่างไร ไทยอยู่ตรงไหน และประเทศที่เงินเฟ้อหนัก ๆ เป็นอย่างไร เพื่อให้เห็นภาพผลกระทบกันครับ

เงินเฟ้อโลกอยู่ตรงไหน

ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยระดับโลกจากปี 2016 – 2026 จากเว็บไซต์ statista.com (มีดอกจันทร์ข้างหลังหมายถึงเป็นอัตราคาดการณ์ล่วงหน้า)

เงินเฟ้อเฉลี่ยทั่วโลกใน 10 ปีระหว่างปี 2016 – 2026 นั้นจะอยู่ที่ระหว่าง 2.7% – 4.35% ซึ่งปีที่สูง ๆ นั้นจะเห็นได้ว่ามีปัจจัยเกี่ยวเนื่องจากสภาพสังคม อย่างปี 2021 นั้นก็คือมีเรื่องของ COVID-19 และราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้น เป็นปัจจัย

ซึ่งจะเห็นได้ว่าอัตราเฉลี่ยของเงินเฟ้อโลกถูกคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มลดลง

เงินเฟ้อย้อนหลัง ปี 2000 – 2020 จากmacrotrends

ทั้งนี้เมื่อย้อนกลับไป ปี 2008 ก็เป็นอีกหนึ่งปีที่ อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงถึง 8.95% หากยังจำกันได้ก็คือเกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่อเมริกา วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ที่ส่งผลกระทบไปยังทั่วโลกนั่นเอง

ค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อในไทยย้อนหลัง

ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในไทย วัดอัตราเติบโตเปรียบเทียบจากปีก่อนหน้า ตั้งแต่ปี 2006 – 2026 จากเว็บไซต์ statista.com (มีดอกจันทร์ข้างหลังหมายถึงเป็นอัตราคาดการณ์ล่วงหน้า อาจยังไม่ใช่อัตราเงินเฟ้อประกาศจริง)

เงินเฟ้อในไทยเองก็มีทิศทางสอดคล้องแบบเดียวกับในระดับโลกมาโดยตลอด แต่ให้สังเกตในช่วงปี 2020 – 2023 อัตราเงินเฟ้อนั้นเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างมีนัยยะสำคัญตามแหล่งข่าว โดยเฉพาะในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เท่ากับ 104.10 สูงขึ้น 5.28% เทียบเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และสูงขึ้น 1.06% จากเดือนมกราคม 2566

เป็นทิศทางเงินเฟ้อที่สวนทางกับเศรษฐกิจโลก ทำให้นักวิเคราะห์มีความกังวลกับสถานการณ์เงินเฟ้อของประเทศไม่น้อยยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำในไทยที่ไม่ได้เติบโตขึ้นตามเลย 10 ปีเพิ่มมาเพียง 13 – 36 บาทนั่นจึงทำให้แม้อัตราเงินเฟ้อที่ขึ้นมาจะดูเหมือนไม่เยอะ แต่ค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตของคนไทยจริง ๆ กำลังเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

อัตราค่าแรงขั้นต่ำในไทย ย้อนหลัง 10 ปี จาก workpoint today 10 ปีแรงงานไทย ค่าแรงขั้นต่ำสามร้อยกว่าบาท เพิ่มขึ้นแค่ 13-36 บาท

เกิดอะไรขึ้นเมื่อเงินเฟ้อมาก ๆ

ประเทศที่มีเงินเฟ้อมาก ๆ จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขั้นรุนแรง ค่าเงินจะอ่อนแรงลงจนไม่มีกำลังซื้อสินค้า ตัวอย่างประเทศที่เห็นได้ชัดที่สุดสองประเทศที่เกิดปัญหาเงินเฟ้อสูงขึ้นต่อเนื่องคือ ซิมบับเว และ เวเนซูเอลา ที่มีปัญหาเงินเฟ้อสูงขึ้นต่อปี 50 – 100% มาอย่างยาวนานร่วมกว่า 20 – 30 ปี ธนาคารกลางของประเทศยิ่งแก้ปัญหาด้วยการผลิตเงินเพิ่มก็ทำให้ค่าเงินอ่อนลงเรื่อย ๆ ซ้ำเติมปัญหาเข้าไปอีก

ข้อมูล 20 ประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว ในปี 2020 จาก statista.com

ถ้าให้เห็นภาพง่าย ๆ อย่างตัวเลขล่าสุดของเวเนซูเอล่าที่เงินเฟ้อขึ้นมา 2,355% ทำให้มูลค่าของรายได้ที่เราหาได้จากปีที่แล้วหายไป 2,355% ในปีนี้ มูลค่าเงินหายไป 23 เท่าเลยนะ !

เราจึงได้เห็นภาพผู้คนหอบเงินธนบัตรเป็นตะกร้า ๆ เพื่อไปซื้อของในตลาดเพราะมูลค่าเงินที่ลดลงจากเดิม และสุดท้ายต้องยกเลิกการใช้เงินของตัวเอง ใช้เงินตราต่างประเทศในการซื้อขายแทน

เงิน 20 ล้านดอลลาร์ zimbabwe

แม้จะเปลี่ยนเงินตราแล้ว แต่ปัญหาความอดอยากจากสภาพเศรษฐกิจที่ถูกทำลายไปแล้วไม่สามารถแก้ไขได้ง่าย ๆ ผู้คนจึงยังคงอดอยาก แร้นแค้น เกิดวิกฤติขาดแคลนอาหาร ยารักษาโรค และปัญหาอื่น ๆ ที่ตามมาอีกมากมาย

ถ้าอยากศึกษาต่อเกี่ยวกับข้อมูลเงินเฟ้อ แนะนำให้อ่านเพิ่มเติมได้จากแหล่งอ้างอิงในบทความนี้ ส่วนถ้าอยากรู้ว่าแล้วชาวบ้านแบบเรา ๆ จะจัดการกับภาวะเงินเฟ้ออย่างไรได้บ้าง ทำอะไรได้บ้าง อ่านได้ที่บทความนี้ครับ

ข้อมูลอ้างอิง

การเงินแบบชาวบ้าน

FinanceChaoBan.com เคล็ดลับการเงินสำหรับชาวบ้าน บุคคลทั่วไป ทุกเพศทุกวัย ครบทั้งการ ฝากเงิน ยืมเงิน ออมเงิน กู้เงินด่วน เงินด่วน 30 นาที สมัครบัตรเครดิต และอื่น ๆ อีกมากมาย พวกเรามีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะนำเสนอข้อมูลการเงินต่าง ๆ ให้เข้าใจง่ายที่สุดสำหรับชาวบ้าน เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลทางการเงินได้ง่าย นำเสนอข้อมูลมากที่สุด เพื่อให้ไม่โดนเอาเปรียบ หรือถูกหลอก ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรา คลิก ติดตามเราได้ที่ Facebook หรือ Blockdit
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments