You are currently viewing แชร์ขั้นตอนการหาผู้รับเหมาสร้างบ้านฉบับรวบรัด ทำได้จริง

เมื่อตัดสินใจที่จะสร้างบ้านแล้ว ลำดับต่อไปที่สำคัญสุด ๆ ก็เป็นขั้นตอนการหาผู้รับเหมามาสร้างบ้านนี่แหละครับ ขั้นตอนในการหาผู้รับเหมาสร้างบ้าน ต้องทำยังไงบ้าง มาดูกันครับ

ขั้นตอนการหาผู้รับเหมา อย่างแรกเลยจะต้องเลือกประเภทของผู้รับเหมาให้เข้ากับความต้องการและงบประมาณที่เรามีก่อน ซึ่งจะมีผู้รับเหมาประเภทนิติบุคคล (แบบบริษัท) และผู้รับเหมาแบบบุคคล เมื่อตัดสินใจเลือกประเภทได้แล้วก็มาหาผู้รับเหมาที่ถูกใจมาซัก 2 – 3 เจ้า เพื่อนำใบเสนอราคาของแต่ละเจ้ามาตัดสินใจ และสุดท้ายเมื่อได้ผู้รับเหมาที่ถูกใจ ตรงตามความต้องการแล้วก็จะต้องทำสัญญาว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรครับ

ผู้รับเหมาแบบบริษัทและแบบบุคคลมีข้อดีข้อเสียต่างกันอย่างไร และถ้าได้ใบเสนอราคามาแล้วจะต้องตัดสินใจจากปัจจัยด้านใดบ้าง เราสรุปแบบรวบรัดมาให้แล้ว อ่านต่อได้เลย

ขั้นตอนในการหาผู้รับเหมา

1. รู้จักประเภทผู้รับเหมา

ต้องทำความรู้จักผู้รับเหมาแต่ละประเภทก่อนจะได้เลือกผู้รับเหมาให้เหมาะกับความต้องการ และงบประมาณของเรา โดยหลัก ๆ แล้ว ผู้รับเหมาแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

ผู้รับเหมาที่ดำเนินการในรูปแบบนิติบุคคล

จะเป็นผู้รับเหมาที่มีความน่าเชื่อถือสูงในการรับงาน จดทะเบียนเป็นบริษัทตามกฎหมาย และเราสามารถตรวจสอบได้ ส่วนมากแล้วเราจะมี 2 แบบ คือ

ให้บริการแบบครบวงจร : มีแบบบ้านมาตรฐานมาให้เลือก หรือมีบริการออกแบบบ้านให้ใหม่ด้วย ทำการก่อนสร้าง รวมถึงมีการติดต่อหน่วยงานราชการแทนเราด้วยครับ ผู้รับเหมาประเภทนี้จะมีทีมงานค่อนข้างครบ ตั้งแต่ วิศวกร, สถาปนิก, ฝ่ายบริการลูกค้า, โฟร์แมน (ผู้ควบคุมงานก่อสร้าง)

ให้บริการไม่ครบวงจร : เน้นไปที่งานก่อสร้าง อาจไม่มีทีมงานสถาปนิกไว้โดยตรง โดยส่วนมากจะรับแบบก่อสร้างที่สถาปนิกออกแบบไว้แล้วมาทำการตีราคาเพื่อเสนอราคากับเราอีกที หรือเรียกง่าย ๆ ก็คือรับแค่งานก่อสร้างตามแบบที่มีมาแล้วนั่นเองครับ

การใช้บริการผู้รับเหมาแบบนิติบุคคลจะเน้นดำเนินการให้เป็นไปตามสัญญาจ้าง มีการตรวจสอบคุณภาพของงานในแต่ละส่วนให้เป็นไปตาม BOQ (Bill of Quantities/บัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคา) เช่น วัสดุตรงตามสเปคไหม, ก่อนเทปูนมีการตรวจสอบคุณภาพปูนก่อนเทไหม เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้ได้งานที่มีคุณภาพ แต่ทั้งนี้ก็จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าผู้รับเหมาแบบบุคคลแน่นอน

ผู้รับเหมาที่ดำเนินการในรูปแบบบุคคล

เป็นผู้รับเหมาที่ไม่ได้จดทะเบียนบริษัท บางรายจะสามารถรับงานสร้างบ้านได้ หรือบางรายก็จะถนัดเรื่องงานต่อเติมตรงส่วนนี้ต้องดูให้ดีครับ ผู้รับเหมาประเภทนี้คือส่วนมากแล้วจะเป็นผู้รับเหมาที่ทำงานเฉพาะด้านไปเลย ซึ่งสามารถเก็บรายละเอียดต่าง ๆ ได้ดี

แต่ด้วยความไม่ครบวงจรนี้ ก็อาจจะมีปัญหาเรื่องแผนการก่อนสร้าง กับบรรดาช่างต่าง ๆ ได้ ตั้งแต่ช่างก่อสร้าง ช่างประปา ช่างไฟ ช่างตกแต่ง ซึ่งอาจมีปัญหาเรื่องควบคุมงานก่อสร้าง หรืองานจากผู้รับเหมาเจ้าหนึ่งไปกระทบกับงานอีกเจ้า เช่น การเดินสายไฟในผนัง การเดินท่อประปา ท่อน้ำทิ้งใต้พื้นบ้าน หากเราไม่ได้มีข้อมูลความรู้เรื่องงานก่อสร้างพออาจจะควบคุมส่วนนี้ไม่ได้และเกิดปัญหาตามมาทีหลังได้ครับ

ผู้รับเหมาแบบบุคคลจึงเน้นงานที่สเกลไม่ใหญ่มาก และมีข้อดีตรงที่เราสามารถคุยงานกันง่าย เป็นกันเอง บอกความต้องการได้ และที่สำคัญราคาไม่สูงมาก แต่ก็แนะนำว่าต้องหาผู้รับเหมาที่น่าเชื่อถือ มีเครดิต ผลงานดี มีความรับผิดชอบจริง ๆ เพราะผู้รับเหมาในรูปแบบนี้ จะไม่มีระบบการทำงานที่ชัดเจนเมื่อเทียบกับแบบนิติบุคคล รวมถึงอาจจะไม่มีทีมงานที่มีความชำนาญครอบคลุมทั้งหมด ถ้าใครจะเลือกใช้ประเภทนี้ ต้องดูให้ดีมาก ๆ เลยครับ

2. ขอใบเสนอราคาก่อสร้างเพื่อตัดสินใจ

ถ้าได้ผู้รับเหมาที่ถูกใจมา 2 – 3 เจ้าแล้ว ให้เราแจ้งรายละเอียดการก่อสร้างที่ต้องการเพื่อขอใบเสนอราคาจากผู้รับเหมามาลองเปรียบเทียบกันดู ซึ่งใบเสนอราคานี้จะทำให้เรารู้มูลค่าการก่อสร้างทั้งหมดที่ต้องการจ่าย, รายละเอียด, มาตรฐานของวัสดุที่ใช้ และใบเสนอราคานี่แหละครับที่จะช่วยสะท้อนให้เราเห็นมาตรฐานการทำงานของผู้รับเหมาได้

3. ทำสัญญาจ้าง

เมื่อได้ผู้รับเหมาตามที่เราต้องการแล้ว ก็ต้องมาทำสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรกันครับ ไม่ควรตกลงงานกันปากเปล่าเด็ดขาดแม้จะเป็นผู้รับเหมาแบบบุคคลก็ตามก็ควรจะมีสัญญาว่าจ้างด้วยเหมือนกันครับ ส่วนในสัญญานั้นก็ควรจะมีการระบุระยะเวลาการก่อสร้าง, วัสดุที่ใช้, ข้อตกลงการแบ่งชำระเป็นงวดตามความคืบหน้าของงานให้ชัดเจน, เงื่อนไขการรับประกันงานก่อสร้าง และถ้ามีพาร์ตเนอร์ที่รับช่วงต่อในงานที่ผู้รับเหมาไม่ถนัด ก็ต้องมีระบุในสัญญาด้วย

คิดจะสร้างบ้านเองผู้รับเหมาเรียกได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญเลยครับ เพราะฉะนั้นอย่ารีบร้อน ใช้เวลา หาข้อมูลปรึกษาหลาย ๆ ที่ อ่านทุกอย่างให้รอบคอบก็จะช่วยลดปัญหาที่จะตามมาภายหลังได้

Jirapa Sawatanan

Creative & Content creator ประสบการณ์เขียนบทความเกี่ยวกับการเงินและหมวดหมู่ที่เกี่ยวข้อง 2 ปี Linkedin
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments